ภาพถ่าย “ลูกหินสีน้ำเงิน” (The Blue Marble) โลกทั้งใบจากมุมมองของภารกิจอะพอลโล 17 บนดวงจันทร์

มีปริศนาเรื่องหนึ่งที่ค้างคาใจนักวิทยาศาสตร์มานาน นับตั้งแต่เริ่มมีการส่งดาวเทียมขึ้นฟ้าในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เพื่อตรวจวัดความสามารถของโลกในการสะท้อนรังสีหรือแสงอาทิตย์กลับออกไปยังห้วงอวกาศ

ปริศนาดังกล่าวได้แก่ข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดโลกทั้งใบจึงดูสว่างจ้าเท่ากันทั้งหมดเมื่อมองมาจากภายนอก แม้ว่าผืนดินและผืนน้ำหลายแห่งบนโลกน่าจะสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ไม่เท่ากันก็ตาม

ล่าสุดทีมนักธรณีฟิสิกส์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ของอิสราเอล ได้ไขปริศนาดังกล่าวจนสำเร็จและตีพิมพ์รายละเอียดของงานวิจัยนี้ลงในวารสาร PNAS โดยชี้ว่าภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดปรากฎการณ์น่าพิศวงนี้ขึ้น

  • เทคโนโลยีเลเซอร์ช่วยหันเหวิถีฟ้าผ่า
  • รู้จัก “เฮอริเคนอวกาศ” พายุพลาสมาเหนือชั้นบรรยากาศโลก
  • น้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์มีต้นกำเนิดจากดวงอาทิตย์

ผลวิเคราะห์ที่ได้จากการทำแผนที่กลุ่มเมฆและพายุทั่วโลกชี้ว่า พื้นที่ซีกโลกใต้ที่ควรจะปรากฏเป็นเงาดำมืดเมื่อมองจากห้วงอวกาศ เพราะเต็มไปด้วยมหาสมุทรที่ดูดซับแสงอาทิตย์นั้น กลับแลดูสว่างสดใสเท่ากับซีกโลกเหนือได้ เนื่องจากมีกลุ่มเมฆจากพายุไซโคลนกำลังแรงช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปเป็นการชดเชย

ค่าความขาวสว่างที่เกิดจากการสะท้อนแสงของพื้นผิววัตถุ หรือที่เรียกกันว่า “อัลบีโด” (Albedo) นั้น สามารถจะสูงขึ้นได้หากผืนดินถูกปกคลุมด้วยหิมะ หรือเหนือผืนน้ำมีกลุ่มเมฆที่เกิดจากการก่อตัวของพายุหมุนอยู่

มีการวิเคราะห์กลุ่มเมฆที่ปกคลุมเหนือท้องฟ้าทั่วโลกในการวิจัยครั้งนี้

ผลวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ชี้ว่า รูปแบบการก่อตัวของกลุ่มเมฆจากพายุไซโคลนตามจุดต่างๆ ในมหาสมุทรของซีกโลกใต้ สามารถจะเพิ่มค่าอัลบีโดหรือการสะท้อนแสงอาทิตย์จากผืนน้ำให้มากขึ้น จนมีความสว่างเท่าเทียมหรือสมมาตรกับบริเวณซีกโลกเหนือที่ส่วนใหญ่เป็นผืนแผ่นดินได้

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่าภาวะโลกรวนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลกระทบต่อค่าอัลบีโดของโลกที่ปัจจุบันมีความสว่างเท่ากันทั้งหมดหรือไม่ แต่พวกเขาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น น่าจะทำให้พายุโดยทั่วไปในซีกโลกเหนือลดน้อยลง รวมทั้งพายุที่มีกำลังอ่อนและกำลังปานกลางในซีกโลกใต้ก็จะน้อยลงด้วย แต่จะเกิดพายุที่มีความรุนแรงสูงในซีกโลกใต้เพิ่มมากขึ้น

ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศดังกล่าวหมายความว่า ในอนาคตจะเกิดความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเมฆในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้อย่างสม่ำเสมอกัน จนน่าจะรักษาความสมมาตรของค่าอัลบีโดที่เท่ากันระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้เอาไว้ได้

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทีมผู้วิจัยกล่าวเตือนว่า “ในระยะยาวแล้วเรายังไม่อาจแน่ใจได้ว่า ค่าความสว่างของโลกที่เท่ากันหมดทั้งใบนี้จะคงอยู่ต่อไป หากอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

 

ติดตามเรื่องราวรอบโลกได้ที่  tuttosulinux.com