เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2

Bloomberg รายงานว่าไทยเป็นประเทศที่อัตราส่วนเงินทุนสำรองต่อ GDP ลดลงมากที่สุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asian Markets) โดยปลายปี 2021 อัตราส่วนนี้อยู่ที่ 48.6% ปัจจุบันลดลงมาที่ 43.1% ตามด้วยมาเลเซียและอินเดีย หากนับเป็นตัวเลขแล้วทุนสำรองของไทยลดลงไปราว 32,000 ล้านดอลลาร์ วันนี้มาสรุปว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ คืออะไร และสำคัญกับเศรษฐกิจยังไง

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร?

เป็นสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การถือครองของธนาคารกลางแต่ละประเทศโดยเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศ เช่น พันธบัตรสหรัฐฯ เงินสดของประเทศขนาดใหญ่ ทองคำ เป็นต้น

เงินทุนส่วนนี้เปรียบเสมือนเงินออมของประเทศ ยิ่งมีมากยิ่งมีความมั่นคง เงินทุนส่วนหนึ่งถูกใช้ค้ำประกันธนบัตรที่พิมพ์ออกมาใช้ ในบางครั้งธนาคารกลางก็เลือกใช้ทุนสำรองแทรกแซงค่าเงินเพื่อรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น เงินไหลออก เป็นเหตุที่ต้องปกป้องค่าเงิน

ตั้งแต่ต้นปี 2022 ค่าเงินบาทอ่อนค่าจากระดับ 33.3 บาท/ดอลลาร์ มาที่ 36.68 บาท/ดอลลาร์ คิดเป็นการอ่อนค่าราว 10% ในช่วงแรกเหตุผลอาจเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยดึงดูดเม็ดเงินจากทั่วโลก

แต่หากดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่าค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าอย่างชัดเจนในเดือน พ.ค. 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่การส่งออกเริ่มลดลงขณะที่การนำเข้ากลับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ (ขาดทุนการค้าระหว่างประเทศ)

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสะท้อนผ่าน GDP ไตรมาส 2 ซึ่งแม้จะขยายตัว 2.5% (YoY) แต่ยังต่ำกว่าคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 3.1% (YoY) แสดงว่าก็ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าประทับใจสำหรับนักลงทุน

อีกทั้งยังมีการปรับลดประมาณการ GDP ปี 2022 จาก 2.5-3.5% มาที่ 2.7-3.2% ซึ่งมีหลายประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่า ดังนั้นจึงพอจะบอกได้ว่าสภาพเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีพอจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ

ปัจจัยข้างต้นทั้งการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจภายใน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้เงินทุนสำรองปกป้องค่าเงินบาทตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีอีกปัญหาที่ปรากฎตัวขึ้นมา คือ เงินเฟ้อ โดยการปกป้องค่าเงินก็มีส่วนช่วยบรรเทาเงินเฟ้อจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เหลืออยู่ก็มากพอจะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังไม่มีท่าทีจะจบในเร็ววัน เพราะหลากหลายสาเหตุ ดังนี้

ปัจจัยส่งเงินเฟ้อไทยไม่จบในเร็ววัน!!!

น้ำมันยังแพง ค่าไฟก็ขึ้น แถมต้องแบกต้นทุนวัตถุดิบ

ราคาน้ำมันในตลาดโลกเดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนไปแตะระดับสูงสุดที่ประมาณ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล จากนั้นย่อตัวลงซื้อขายกันที่ช่วง 85-90 ดอลลาร์/บาร์เรล

แต่ด้วยมาตรการอุดหนุนราคาจากภาครัฐทำให้ต้นทุนพลังงานไม่ถูกส่งจากผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคอย่างเต็มที่ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อน ปัจจัยที่กล่าวมาส่งให้ราคาน้ำมันในประเทศยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไป เพิ่มต้นทุนด้านพลังงานให้ผู้ประกอบการซึ่งน่าจะส่งต่อมายังผู้บริโภคแน่นอน

ค่าไฟฟ้าก็กำลังเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นค่า FT นับตั้งแต่เดือน ก.ย. เนื่องด้วยแนวโน้มราคาก๊าซ LNG ที่ปรับตัวขึ้น ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากต้นทุนการผลิตสินค้าของโรงงานที่จะเพิ่มขึ้น

มากกว่านั้นสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด เช่น ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ที่แม้ราคาจะลดลงแต่ก็ยังสูงเมื่อเทียบกับปี 2021 ขณะที่ภาคเกษตรในประเทศก็ยังต้องแบกรับต้นทุนปุ๋ยต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่กำลังลดลง ดังนั้นค่าครองชีพจึงดูไม่มีแนวโน้มจะลดลงในเร็ววัน

การจ้างงานฟื้นตัว ค่าแรงขึ้นต่ำเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากฝั่งต้นทุนผู้ผลิตแต่จากนี้จะได้รับผลจากอันมาจากฝั่งผู้บริโภค เนื่องด้วยตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมา

ในอีกมุมหนึ่งฝั่งผู้ผลิตก็ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่กดดันอยู่อีก ด้วยต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค. นี้แล้ว คาดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลต่อเงินเฟ้อในปี 2023

เงินเฟ้อตอกย้ำวิกฤติต้มกบที่ไทยกำลังเผชิญอยู่

ไตรมาสแรกของปี 2022 ไทยมีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 89% ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2-3% ด้านรัฐบาลก็จัดมาตรการกระตุ้นเข้ามาจนต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP จาก 60% ไปที่ 70% แล้ว แน่นอนว่ามาตรการกระตุ้นคงมีน้อยลงไปบ้าง ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าไทยเข้าสู่วิกฤติต้มกบแล้ว

เงินเฟ้อมีผลกดดันเศรษฐกิจในด้านการบริโภคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ซึ่งกลุ่มนี้มีรายจ่ายอาหาร 45% ของรายจ่ายทั้งหมดต่อเดือน ซึ่งสินค้าประเภทอาหารมีการปรับราคาที่รวดเร็วกระทบต่อครัวเรือนที่รายได้น้อยแน่นอน นับเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

เศรษฐกิจไม่ดี “เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ” ไหลออก ค่าเงินอ่อน วนลูปซ้ำเติมเงินเฟ้อ

จะเห็นว่าเงินบาทที่อ่อนค่ามีผลต่อเงินเฟ้อของประเทศ โดยยังมีแนวโน้มที่เงินบาทจะยังคงอ่อนค่าทั้งด้วยการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของ Fed และสภาพเศรษฐกิจไทยที่ไม่น่าสนใจ หากค่าเงินบาทยังอ่อนต่อไปย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอีกแน่นอน

ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยมีการใช้ทุนสำรองเพื่อแทรกแซงค่าเงิน จนลดลงจากจุดสูงสุดที่เกือบ 260,000 ล้านดอลลาร์ มาที่ 215,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงมาแล้ว 17% และแทบไม่มีช่วงไหนเลยที่ทุนสำรองลดรวดเร็วขนาดนี้

Divya Devesh หัวหน้าฝ่ายอัตราแลกเปลี่ยนในอาเซียนและเอเชียประจำสิงคโปร์ของ Standard Chartered กล่าวว่า การลดลงของระดับทุนสำรองสะท้อนว่าการเข้าแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางในช่วงหลังจากนี้อาจทำได้จำกัด และคาดว่าจะลดการพยุงค่าเงิน

นั่นหมายความหากเป็นเช่นนั้นจริง!!! เศรษฐกิจและประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาเรื้อรังที่หนักขึ้นทุกวัน ภาครัฐของไทยต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจที่ตรงจุดในระยะสั้นและแผนที่ชัดเจนในระยะยาว เช่น การลดหนี้ เพิ่มสวัสดิการ และเพิ่มความสามารถในการหารายได้ มิฉะนั้นน้ำที่กำลังต้มกบอยู่อาจถึงเวลาเดือดแล้วก็ได้

แต่สิ่งที่คงจะแน่นอนแล้ว นั่นคือยังไม่สามารถพูดได้ว่าเศรษฐกิจอยู่ในจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว และหลายประเทศอาจเพิ่งรู้ตัวว่ารู้จักผลของเงินเฟ้อน้อยเกินไป หลังไม่ได้เผชิญกับเงินเฟ้อมาหลายทศวรรษ


ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ประชากรจีนลดต่ำเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ต่อเนื่องปีที่ 2
วิธีลงทะเบียนสำหรับ Mercedes me Charge
เหตุใดประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญ และจะเป็นประโยชน์ต่ออนาคต
วิธีไขปริศนาแผ่นโลหะ Diablo ทั้งหมดในเกม Diablo 4
ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://tuttosulinux.com/
สนับสนุนโดย  ufabet369
ที่มา www.moneybuffalo.in.th